เห็บ หมัด ยุง สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า (ไม่น่า) รัก


ต่อจากครั้งที่แล้ว คุณหมอนนท์ สัตวแพทย์ใจดีประจำเพ็ทคลับได้มาให้ความรู้เรื่องโรคที่มากับหน้าฝน

วันนี้เราจะมาพูดถึงสิ่ง ๆ เล็ก ที่สามารถสร้างหายนะให้กับลูกรักของเราได้เหมือนกัน นั่นก็คือ “เห็บ หมัด ยุง” นั่นเอง หลายคนอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าปรสิตเหล่านี้เป็นอันตรายต่อระบบเลือดของน้อง ๆ ดังนั้น คุณหมอเลยอาสามาอธิบายเพิ่มเติมสักหน่อยว่า ถ้าหากโดนกัดแล้ว จะสามารถเกิดโรคอะไรได้บ้าง



คุณหมอกล่าวว่า “โดยปกติพวกปรสิตเหล่านี้จะมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเห็บมีโอกาสที่น้องแมวและน้องหมาจะติดได้ทั้งคู่ แต่จะเกิดกับน้องหมามากกว่า โดยสิ่งที่ตามมาจากเห็บสามารถทำให้เกิดโรคพยาธิเม็ดเลือดได้

เนื่องจากในน้ำลายเห็บมีเชื้อพยาธิที่ไม่ได้โตเต็มวัย แต่เมื่อมากัดสัตว์เลือดอุ่นจนได้รับสารอาหารที่เพียงพอแล้ว จะทำให้พยาธิเจริญเติบโตได้ดี และเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายของน้อง ๆ ถ้าหากมีเม็ดเลือดแดงแตกเยอะเกินไป สามารถเกิดภาวะโลหิตจาง หรือ ภาวะเลือดออกไม่หยุดได้ วีธีการสังเกตอาการคือ มีไข้สูง และ มีจ้ำเลือดครับ”

 



หมัดเป็นพาหะของพยาธิตัวตืด

“หมัดจะเกิดขึ้นกับแมวมากกว่า โดยจะกินเลือดเหมือนกันกับเห็บ แน่นอนว่าโรคที่ตามคือ โรคโลหิตจาง เมื่อแมวโดนน้ำลายหมัดจะทำให้เกิดอาการคัน และนำไปสู่ภาวะผิวหนังอักเสบได้ แมวบางตัวเมื่อเกิดอาการคันมักจะชอบกัดและงับบริเวณผิวหนัง เมื่อน้องแมวกินหมัดเข้าไปจะทำให้เกิดพาหะนำเชื้อของพยาธิตัวตืด ที่เราเห็นกันจะเป็นลักษณะเส้นมาม่าสีขาวที่ออกมาทางก้นของน้อง ๆ นั่นเองครับ”



แค่ยุงกัดทำให้เกิดพยาธิเม็ดเลือดได้อย่างไร?

“เมื่อยุงบินไปกัดสัตว์ที่มีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจ เชื้อจะเข้าไปสู่น้ำลายยุง และยุงไปกัดน้องหมาน้องแมวตัวอื่นต่อ ซึ่งพยาธินี้สามารถเกิดได้ทั้งสุนัขและแมว แต่มักจะเกิดกับสุนัข ในอัตราที่สูงกว่า


โดยการแพร่เชื้อจะใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งปี ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ระยะก่อนหน้านั้นจะไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย เมื่อระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน พยาธิสามารถเจริญเติบโตได้ถึง 30 ซม. หรือประมาณ 1 ไม้บรรทัดได้ครับ ดังนั้นความยาวของพยาธิเหล่านี้หากเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดหรือหัวใจ ก็จะส่งผลต่อการบีบตัวของหัวใจ อาจทำให้หัวใจวายในอนาคตได้”

 


อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่อย่าลืมพาน้อง ๆ ไปตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอนัด ยิ่งถ้าเป็นเด็กแพ้ง่ายหรือไวต่อสิ่งเร้า ยิ่งต้องสังเกตเป็นพิเศษเลยค่ะ และ EP. หน้า คุณหมอจะมาแชร์วิธีการป้องกันและรักษา ห้ามพลาดเด็ดขาด นะฮับ!

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้